ศรีสะเกษ /สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อุบลราชธานี จัดงานวันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า ประจำปี 2562

ศรีสะเกษ /สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อุบลราชธานี จัดงานวันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า ประจำปี 2562
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 ที่บริเวณลานจอดรถศูนย์บริการนักท่องเที่ยวผามออีแดง อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ นายเมธาศิษฏ์ ฉัตรคุปต์ชนรดี นายอำเภอกันทรลักษ์ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม งาน “วันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า”  ซึ่งสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อุบลราชธานี จัดขึ้น เพื่อปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนได้ตระหนักถึงควันพิษที่เกิดจากไฟป่า นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อุบลราชธานี กล่าวรายงาน มีหัวหน้าส่วนราชการประชาชน ในตำบลเสาธงชัย ตลอดทั้งครูนักเรียนร่วมกิจกรรมจำนวนมาก
ในงานประธานได้มอบใบประกาศเกียรติคุณแก่เครือข่ายการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐดีเยี่ยม มอบรางวัลให้แก่นักเรียนที่ชนะการประกวดวาดภาพและประกวดคำขวัญ  และได้ร่วมกัน กล่าวคำปฏิญาณ “ ประชาร่วมใจ ไม่เผาป่า ไร้หมอกควัน อากาศบริสุทธิ์ ” การแสดงสาธิตการใช้อุปกรณ์ดับไฟป่าของชุดพนักงานควบคุมไฟป่า การจัดแสดงนิทรรศการที่หน่วยงานต่างๆ ในสังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อุบลราชธานี และร่วมกันจัดทำแนวกันไฟอาเซียนไทย-กัมพูชา เพื่อปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนได้ตระหนักถึงควันพิษที่เกิดจากไฟป่า       
  นายเมธาศิษฏ์ ฉัตรคุปต์ชนรดี นายอำเภอกันทรลักษ์ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า ในฤดูแล้งระหว่างเดือนมกราคม-ถึงเมษายนของทุกปี  เป็นช่วงที่เกิดไฟป่าขึ้นเป็นประจำ ไฟป่านับเป็นปัญหาสำคัญที่สร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนเกิดปัญหาภัยแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจก ซึ่งมีผลทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ภูมิอากาศผันแปร หมอกควันที่เกิดขึ้นประกอบไปด้วยฝุ่นละอองและควันพิษทำให้ประชาชนป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เกิดการระคายเคืองเหนื่อยง่าย ตลอดจนทำให้เกิดทัศนวิสัยที่ไม่เหมาะสมต่อการจราจรทั้งทางบกและทางอากาศ นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอีกด้วย จากเหตุผลดังกล่าว รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี จึงได้มีมติเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2524 กำหนดให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อุบลราชธานี จึงได้จัดงานนี้ขึ้นโดยหมุนเวียนกันไปจัดตามจังหวัดต่างๆ 
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อุบลราชธานี กล่าวว่า ในเขตรับผิดชอบของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อุบลราชธานี 6 จังหวัด ได้แก่จังหวัดสุรินทร์, ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี, อำนาจเจริญและจังหวัดมุกดาหาร ทั้งหมดนี้พื้นที่เกิดไฟป่าในปีงบประมาณนี้ มีจังหวัดศรีสะเกษเกิดขึ้นมากสุด คือ เขตรับผิดของของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 เกิดไฟป่าขึ้นในเขตอนุกรักษ์ทั้งหมด 58 ครั้ง จังหวัดศรีสะเกษเกิดขึ้น 57 ครั้ง ก่อให้เกิดความเสียหายในพื้นที่ 700 กว่าไร่ และเกิดขึ้นที่จังหวัดอุบลราชธานีเพียงครั้งเดียว จังหวัดอื่นนอกจากนี้ยังไม่มีรายงานการเกิดไฟไหม้ จึงขอแจ้งให้ประชาชนทราบว่า หากพบไฟป่าเกิดขึ้นในพื้นที่ไหนก็แล้วแต่ ขอให้แจ้งมาที่หมายเลข 1362 ซึ่งเป็นสายตรง สายด่วนของหน่วยควบคุมไฟป่า ขอให้แจ้งพิกัดที่เกิดไฟป่าให้ชัดเจน เจ้าหน้าที่จะได้รีบเข้าไปดับไฟได้ทันท่วงที เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด //


วสันต์ ดอกไม้/รายงาน

ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.