ชุมพรกรรมาธิการการเกษตรฯ สนช.พร้อมหนุน กาแฟถ้ำสิงห์ เป็นแบรนด์“กาแฟชุมพร”สู่ตลาดAEC

ชุมพรกรรมาธิการการเกษตรฯ สนช.พร้อมหนุน กาแฟถ้ำสิงห์ เป็นแบรนด์“กาแฟชุมพร”สู่ตลาดAEC
เมื่อเช้าวันนี้( 14 พฤศจิกายน 2560) พล.อ.ดนัย มีชูเวท ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ปธ.กมธ.กษ.สนช.) พร้อมคณะ เดินทางไปเยี่ยมชมกิจการของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟถ้ำสิงห์ ต.ถ้ำสิงห์ อ.เมือง จ.ชุมพร โดยมี พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายเลิศพรไชย ไชยฤทธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมให้การต้อนรับ และมี นายณปพน พรหมมณี ผู้จัดการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟถ้ำสิงห์ กล่าวบรรยายสรุป ก่อนนำคณะของ พล.อ.ดนัย เยี่ยมชมสวนกาแฟ โรงคั่วบดกาแฟ และโรงอบเมล็ดกาแฟด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟถ้ำสิงห์ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
พล.อ.ดนัย กล่าวว่า วันนี้ได้นำคณะ กมธ.กษ.สนช.มาศึกษาดูงานการผลิตกาแฟชุมพรที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟถ้ำสิงห์ จึงทำให้ทราบว่ากาแฟพันธุ์โรบัสต้าของชุมพรถือเป็นสมบัติล้ำค่าและเป็นเสน่ห์ของท้องถิ่น ซึ่งนอกจากจะปลูกกาแฟแล้ว ยังมีการปลูกผลไม้ชนิดอื่นๆ เช่น ทุเรียน รวมอยู่ในสวนกาแฟในลักษณะของสวนผสมด้วย ส่วนรสชาติของกาแฟชุมพรก็ถือว่ามีรสชาติที่สามารถพัฒนาให้เป็นกาแฟระดับโลกได้ หากมีการต่อยอดจากกาแฟ 3 in 1 เป็น 4 in 1 คืออาจจะใส่พืชสมุนไพรของชุมพรลงไปเหมือนที่ทางภาคเหนือใส่ดอกคำฝอยลงไปในกาแฟ ก็จะเป็นเพิ่มมูลค่าให้การแฟชุมพร แต่จะต้องรักษาเอกลักษณ์ของกาแฟชุมพรเอาไว้ นั่นคือการรักษารสชาติให้กลมกล่อม ไม่เปรี้ยว มีรสขมแบบพอเหมาะ ตนรู้สึกดีใจที่เห็นกาแฟชุมพรหลายยี่ห้อไปวางจำหน่ายที่ตลาดกรุงเทพฯ เช่น ที่ตลาดคลองผดุงกรุงเกษมที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเคยไปชิมมาแล้ว
“ปกติผมไม่ใช่นักดื่มกาแฟ แต่เมื่อมาได้ดื่มกาแฟชุมพรก็รู้สึกติดใจในรสชาติของกาแฟชุมพรแล้ว ดังนั้น จึงแนะนำวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟถ้ำสิงห์ว่า ทำอย่างไรจะสามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น โดยไม่ต้องใช้ต้นทุนเพิ่มขึ้นมากเกินไป และมีราคาที่เกษตรกรต้องอยู่ได้ หากสามารถส่งขายต่างประเทศได้ ก็จะทำให้วงการกาแฟชุมพรสามารถสร้างตลาดในต่างประเทศได้ เหมือนที่ขณะนี้ประเทศเวียดนามเพื่อนบ้านของเรากำลังทำ หรือที่ประเทศบราซิลกำลังคุมตลาดโลกในเรื่องกาแฟอยู่ ยิ่งตอนนี้มีการเปิดประตู AEC แล้ว การแข่งขันในเรื่องคุณภาพของผลผลิตจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ และรู้สึกดีใจที่ทราบว่ากำลังมีการผลักดันกาแฟชุมพรให้เป็นสินค้าเชิงเอกลักษณ์ทางภูมิศาสตร์โดยเริ่มที่กาแฟถ้ำสิงห์ก่อน ซึ่งหากทำสำเร็จก็จะถือเป็นแบรนด์ของชาวชุมพรได้ทันที สิ่งที่ตามมาก็คือมูลค่าของกาแฟที่จะเพิ่มขึ้น และจังหวัดใกล้เคียงก็จะหันมาทำตาม” พล.อ.ดนัย กล่าว

พงศกร นวนละมัย / ชุมพร

ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.