ฉะเชิงเทรา-ศูนย์ปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียงเทพราช จัดงาน“53 ปี ปลานิล ปลาของพ่อ”


  


เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2562 ที่ศูนย์ปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียงเทพราช ต.เทพราช อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา นายขวัญชัย รักษาพันธ์ ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปี 2555 ได้ร่วมกับหน่วยงานราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา และเครือข่ายเกษตรกร จัดงาน 53 ปี ปลานิล ปลาของพ่อโดยมีกิจกรรม ตักบาตร และถวายสังฆทานพระสงฆ์ 10 รูป เพื่อน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร  ที่ได้พระราชทานพันธุ์ปลานิลให้กรมประมง ในวันที่ 17 มีนาคม 2509 เป็นระยะเวลา 53 ปี






* นายขวัญชัย รักษาพันธ์ กล่าวว่า ประวัติความเป็นมาของปลานิล  ปลาพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9  ปลานิลนำเข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกโดยสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ  เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ทรงนำลูกปลาตระกูลเดียวกับปลาหมอเทศ มาทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร  เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2508 จำนวน 50 ตัว ครั้งนั้น ได้โปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงปลานิลในบ่อน้ำภายในพระราชวังสวนจิตรลดา เลี้ยงได้ 5 เดือน ปรากฏว่า ลูกปลาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงได้มีการขุดบ่อเลี้ยงปลาชนิดนี้เพิ่มขึ้นอีก 6 บ่อ และทรงย้ายปลาจากบ่อเดิมมาบ่อใหม่ด้วย 




    ผลการทดลองปรากฏว่า ปลานิลที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยง ได้เจริญเติบโตและแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างดี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร  จึงได้พระราชทาน ชื่อว่า  ปลานิล (โดยมีที่มาจากชื่อแม่น้ำไนล์ (Nile) ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยเดิม หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Tilapia nilotica Linn ) ซึ่งมีความหมายว่าสีดำ คือ สีนิล และออกเสียงตามพยัญชนะต้นของชื่อ คือ  “nil”  มาจาก nilotica



    เมื่อวันที่ 17 มีนาคมพศ 2509 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานพันธุ์ปลานิลให้กับอธิบดีกรมประมง นำไปเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ ตามสถานีประมงทั่วประเทศ จำนวน 10,000 ตัว ทั้งนี้มีราษฎรเป็นจำนวนมากที่สามารถเพาะเลี้ยงปลานิลได้เองในทุกภาคของประเทศ จนปลานิลกลายเป็นปลาที่คนนิยมรับประทาน เลี้ยงง่าย โตเร็ว และมีรสชาติดี


    ในทางวิชาการ เรียกสายพันธุ์ปลานิล ดังกล่าวว่า  ปลานิลจิตรลดาซึ่งยังคงเป็นปลานิลสายพันธุ์แท้ ที่ประเทศไทยได้รับทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จากพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ 

    นอกจากจะได้รู้ถึงประวัติความเป็นมาของปลานิลแล้ว ภายในงานยังมีการเสวนาเรื่องความสำคัญของปลานิลทางเศรษฐกิจ  ปัญหาการเลี้ยงปลานิลปัจจุบัน และกิจกรรมวาดภาพปลานิล ,แจกพันธุ์ปลานิล ซึ่งยังมีกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรได้นำผลผลิตของกลุ่มมาจำหน่ายภายในงาน  รวมถึงอาหารมื้อกลางวันก็ยังเน้นเมนูที่ทำจากปลานิล เช่นทอดมัน ห่อหมก แกงส้ม ปลานิลแดดเดียว หลังจากรับประทานอาหารมื้อเที่ยงแล้ว ยังมีการสาธิตการนำปลานิลมาทำปลายอ โดยกรมประมง และการนำปลานิลมาทำปลาส้ม โดยสำนักงานเกษตรอำเภอบ้านโพธิ์




** นายขวัญชัย รักษาพันธ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า  ดังนั้นปลานิลจึงเป็นปลาน้ำจืดที่ชาวไทยบริโภคมากที่สุด มีโปรตีนสูง และสร้างอาชีพรายได้ให้กับคนไทยตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาว่าควรกำหนดวันปลานิล ให้อยู่ในปฏิทินของไทยหรือไม่




*** จากการสังเกตของผู้สื่อข่าวรอบรั้วภูธร ช่อง 13 สยามไทย เห็นว่าผู้มาร่วมงานในครั้งนี้ เริ่มตื่นตัวในความรู้ที่ได้รับเกี่ยวกับประวัติปลานิล และยังได้แสดงความคิดเห็นว่าควรจะจัดให้มีวันปลานิล ปลาของพ่อ เพื่อน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร  ที่ได้พระราชทานพันธุ์ปลานิลให้กับคนไทย นำมาเป็นอาหาร และสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับครอบครัวคนไทยต่อไป









*** ข้อมูลภาพข่าว : นายชูศักดิ์ อ้อยเฮิง ผู้สื่อข่าว รอบรั้วภูธร ช่อง 13 สยามไทย
//////////////////////


ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.